ชาวสุพรรณฯต้องชื่นชม! เกษตรผสม-ครบวงจร คุณยายละออ วัย 68 ปี ผู้สูงอายุคุณภาพ ใช้พื้นที่ อ.ด่านช้าง กว่า 5 ไร่ ปลูกผัก ผลไม้ เลี้ยง ไก่ ปลา หมู กบ ส่งลูกเรียน ทำคนเดียวไม่จ้างใคร ยินดีเปิดพื้นที่เข้าศึกษาดูงาน
เมื่อวันที่ 8 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบนพื้นที่กว่า 5 ไร่ ตั้งอยู่ที่ หมู่ 5 บ้านวังหน่อไม้ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี ของหญิงสูงอายุที่ใช้ชีวิตลำพังอยู่กับหลานชาย-หลานสาว วัยประถมศึกษา ในเขต ต.นิคมกระเสียว อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี ได้สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้พบเห็น ด้วยแรงกายเพียง 2 มือ เนรมิตเกษตรผสมรูปแบบครบวงจร ท่ามกลางความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์นานาชนิด และพืชผักผลไม้ เติบโตแข็งแรง ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้ความคิดของ นางละออ บุญธรรม อายุ 68 ปี หรือ ที่คนในนิคมกระเสียว เรียกว่า 'ป้าละออ'
นางละออ บุญธรรม อายุ 68 ปี เปิดเผยกับเราว่า พื้นที่ภายในสวนเกษตรผสมของเธอ ถูกสร้างขึ้นจากน้ำพักน้ำแรงตัวเองทั้งหมด ไม่มีใครเข้ามาช่วยคิดหรือช่วยดูแล โดยเธอได้วางแผนตั้งแต่ต้นจนจบ อยากจะทำอะไร ปลูกพืชผัก ผลไม้ชนิดไหน เลี้ยงสัตว์ชนิดใด ที่สามารถเก็บไว้เป็นมรดกให้ลูกหลานได้ในอนาคต บนเนื้อที่ 5 ไร่ ของเธอ ผลไม้หลักๆ คือ ต้นลำไย มีเกือบ 60 ต้น ที่ปลูกมาเกือบ 10 ปี พันธุ์พวงทอง
"ลำไยพันธุ์นี้ กินแล้วไม่ร้อนในเหมือนพันธุ์อื่นๆ ซึ่งลำไย เป็นเหมือนรายได้หลักประจำครอบครัว ที่สามารถ ส่งผลผลิตออกขายได้ปีละเกือบ 1 แสนบาท เพราะในแต่ละปี ออกมาเยอะมาก และช่วงนี้ ก็กำลังรอให้ลำไยแก่เต็มที่ เพื่อนำออกจำหน่าย ช่วงกลางเดือน ก.ค.59 นี้ ถัดจากสวนลำไย เราจะเห็นต้นกล้วยน้ำว้า ปลูกแทรกสวนลำไย อีกหลายสิบต้น ซึ่งต้นกล้วย เก็บผลผลิตขายได้ทั้งปี นำไปใช้ประโยชน์ ได้ทั้งต้น" นางละออ กล่าว
คุณป้าละออ กล่าวต่อว่า สำหรับต้นกล้วยที่แก่เต็มที่ ก็สามารถนำไปสับละเอียดผสมกับอาหารหมู ให้หมูกินได้ด้วย หรือในช่วงเทศกาลลอยกระทง ยังสามารถนำต้นกล้วยไปขาย ให้คนที่ทำกระทงใบตองขายตามงานวัดได้ด้วย บริเวณท้ายสวนของเธอ จะมีสระน้ำ ขนาดใหญ่ 30 เมตร คูณ 30 เมตร ที่ขุดไว้เป็น 10 ปี เพราะใช้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำ เอาไว้ใช้ในการเกษตร เล็งเห็นความสำคัญของน้ำ ซึ่งมีความโชคดีอยู่อย่างหนึ่ง ตรงสระน้ำแห่งนี้ มีตาน้ำ จึงมีน้ำตลอดทั้งปี ที่สวนจึงไม่เคยขาดแคลนน้ำ แม้จะเข้าหน้าแล้งก็ตาม
"ส่วนระบบการกระจายน้ำไปใช้ในสวนนั้น ป้าจะวางท่อพีวีซีไว้เกือบทั่วทั้งไร่ และต่อสปริงเกอร์ เพื่อใช้ในการรดพืชผัก ผลไม้ ทุกอย่างเป็นภูมิปัญญาของตัวป้าเอง ค่อยๆ คิดค่อยๆ ปรับใช้ให้ได้ผล พื้นที่อีกส่วนหนึ่ง ได้ปลูกพืชผักสวนครัวไว้สำหรับกินเอง ในบ้าน ทั้งกวางตุ้ง คะน้า ผักบุ้ง ต้นหอม ถัวฝักยาว กระเจี๊ยบ ตะไคร้ ใบมะกรูด ชะอม มะนาว ครบเครื่อง หากต้องการทำอาหารประเภทไหน สามารถ ไปเก็บจากสวนสดๆ แบบปลอดสารพิษ ได้ทุกเวลา" ป้าละออ กล่าว ด้วยความภาคภูมิใจ
เธอเล่าให้เราฟัง ต่อว่า สำหรับสัตว์เลี้ยง ก็เป็นสัตว์เลี้ยงเชิงเกษตร อย่างไก่พันธุ์ไข่ ที่เธอเลี้ยงไว้ประมาณ 40 ตัว เพราะแนวคิดที่ว่า ไข่ไก่ มีประโยชน์ ลูกหลานต้องกินไข่ทุกวัน และเหลือจากการกินเอง ยังสามารถขายได้ ชาวบ้านได้กินไข่สดทุกวัน มีรายได้จากการขายไข่วันละ 70-80 บาท ส่วนหมูอีก 8 ตัวที่อยู่ในเล้า ซื้อมาตั้งแต่ยังเล็กๆ ตัวละ 1,200 บาท ด้วยความคิดที่ว่า การเลี้ยงหมู เหมือนฝากเงินในธนาคาร เพราะการลงทุนเลี้ยงหมู ใช้เวลาเพียง 3 เดือน งบในการซื้ออาหาร และราคาหมู รวมประมาณ 3.5 หมื่นบาท แต่การจับหมูขายได้เงินเกือบ 6 หมื่น มีกำไร พออยู่ได้แล้ว
"ขยับไปที่บ่อเลี้ยงกบ ที่อยู่ติดกัน เป็นบ่อปูน จำนวน 5 บ่อ ที่มีกบอยู่นับหมื่นตัว ป้าได้ศึกษาวิธีการเลี้ยงกบ จากการดูรายการโทรทัศน์ เกี่ยวกับการเกษตร เรื่องการเลี้ยงกบ เป็นสัตว์เศรษฐกิจ จึงสนใจลองผิดลองถูก ตั้งแต่การซื้อพันธุ์ลูกกบ (ลูกอ๊อด) มาเลี้ยงเอง ช่วงแรก ลูกอ๊อด ตายเกือบหมดเพราะ มีปัญหาเรื่องน้ำ และอากาศ แต่ป้าละออ ก็หาวิธีการแก้ปัญหา จนสามารถเลี้ยงกบขายมาแล้ว 4-5 รุ่น จนทุกวันนี้ เลี้ยงกบ ไว้เป็น พ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ เพาะกบเลี้ยงเองได้แล้ว" ป้าละออ กล่าว
ป้าละออ เล่าด้วยว่า ความที่ตัวเขาเอง ยึดอาชีพเกษตรมาตั้งแต่เด็ก เริ่มจากการทำนาข้าว และขยับมาปลูกอ้อย ปลูกมัน เมื่อก่อนมีที่ทางทำกินมากถึง 60 ไร่ แต่ด้วยความที่ยากจน และต้องการส่งเสียลูกให้เรียนจบชั้นปริญญาตรี จึงมีความจำเป็นต้องแบ่งที่ ไปขาย เพื่อนำเงินไปส่งเสียลูกจนเรียนจบ และเหลือที่ทำมาหากิน และปลูกบ้านที่พักอาศัย เพียง 5 ไร่
"ป้ามานั่งคิดว่า จะใช้ประโยชน์ในเนื้อที่ 5 ไร่ อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสามารถอยู่ได้ในวิถีแบบพอเพียง ซึ่งสิ่งที่ตอบโจทย์หญิงชรา ก็คือ การยึดตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ของในหลวง ที่ป้า ได้ทดลองปฏิบัติแล้ว เห็นผลเป็นรูปธรรม" ป้าละออ กล่าวทิ้งท้าย
เรื่องราวของ 'ป้าละออ' หญิงสูงอายุสุดสตรอง ลุยทำเกษตรกรเต็มขั้นด้วย 2 มือ เริ่มเป็นที่พูดถึงจากระดับหมู่บ้าน ตำบล และโรงเรียน ในพื้นที่ใกล้เคียง ทำให้มีคนสนใจ เข้าไปศึกษาดูการทำสวนผสมของป้าละออ อีกทั้งมีแนวคิดที่จะสร้างศูนย์การเรียนรู้ทางการเกษตร ให้คนที่สนใจเข้าไปศึกษา และให้ความรู้ในการทำเกษตรแบบวิถีบ้านๆ ตามความรู้ที่ป้าละออ ได้ทำการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองมาแล้วกว่าครึ่งค่อนชีวิต เพื่อให้วิถีการเกษตร ได้คงไว้สู่รุ่นลูกหลานสืบไป
Credit : http://www.thairath.co.th/content/658619